ปวดขาประคบร้อนหรือเย็น?

สำหรับวิธีแก้อาการ ปวดขา ด้วยการประคบร้อนหรือเย็นนั้น ต้องดูลักษณะอาการปวดว่าเป็นแบบใด แล้วค่อยใช้วิธีการประคบที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อให้อาการปวดขาทุเลาลงได้เร็วที่สุด จากนี้มาดูกันว่า ควรใช้การประคบแบบไหนกับอาการปวดขาของเรา

ใช้การประคบร้อนหรือเย็นกับอาการปวดขา

การเลือกใช้วิธีประคบร้อนหรือเย็นแก้อาการปวดขานั้น ต้องดูที่ลักษณะอาการปวด ซึ่งมีดังต่อไปนี้
1. อาการปวดแบบเฉียบพลัน
อาการปวดเฉียบพลันหรือทันทีทันใด เป็นอาการที่เกิดจากอุบัติเหตุเช่น ในขณะที่กำลังทำกิจกรรม ออกกำลังกาย เล่นกีฬา หรืออาจจะพลาดเดินตกหลุม ตกร่อง แล้วเกิดการพลิกแพลงของข้อเท้า ทำให้เกิดการบาดเจ็บและปวดแบบเฉียบพลันนั่นเอง
สำหรับวิธีแก้อาการปวดเฉียบพลันหรือทันทีทันใด ให้ใช้วิธีการ “ประคบเย็น” เนื่องจากความเย็นจะทำให้เส้นเลือดหดตัว และเลือดไหลเวียนได้ช้าลง ช่วยในการห้ามเลือดและลดอาการปวดบวมได้เป็นอย่างดี

ปวดขาประคบร้อนหรือเย็น

โดยขณะที่ได้รับบาดเจ็บหรือเริ่มมีอาการปวด ให้ประคบด้วยน้ำแข็งหรือน้ำเย็นทันที (ภายใน 24 – 48 ชั่วโมง) โดยให้ประคบนาน 20-30 นาที ซึ่งการประคบเย็นนั้นอาจจะใช้เจลสำหรับประคบเย็นแบบสำเร็จรูปหรือถุงผ้าห่อน้ำแข็งก็ได้เช่นกัน

2. อาการปวดแบบเรื้อรัง
อาการปวดแบบเรื้อรังมาเป็นเวลานานหรือเป็น ๆ หาย ๆ เป็นอาการปวดที่สะสมมานานและปวดเป็นประจำทุกวัน จนปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอาจจะเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ทำงานหนักเกินไป ใช้งานกล้ามเนื้อขาเกินกำลัง ขาดการดูแลเมื่อเกิดการปวดหรือบาดเจ็บ จนกลายเป็นอาการปวดแบบเรื้อรังนั่นเอง
สำหรับวิธีแก้อาการปวดแบบเรื้อรังหรือเป็น ๆ หาย ๆ ให้ใช้วิธีการ “ประคบร้อน” เนื่องจากความร้อนจะทำให้หลอดเลือดขยายตัว ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก มีเลือดเข้ามาเลี้ยงในบริเวณที่มีอาการปวด บวมและอักเสบ อาการก็จะค่อย ๆ ทุเลาลง

ปวดขาประคบร้อนหรือเย็น

สำหรับการประคบร้อนหรือประคบอุ่นนั้น อุปกรณ์ที่ใช้อาจจะเป็นกระเป๋าน้ำร้อนหรือผ้าขนหนูชุบน้ำร้อน ที่อุณหภูมิไม่เกิน 45 องศาเซลเซียส ให้ประคบครั้งละ 15 – 20 นาที และไม่ควรประคบนานเกินไป เพราะอาจทำให้หน้าผิวแดงและพองได้

ท้ายนี้สำหรับใครที่มีปัญหาเกี่ยวกับอาการ ปวดขา ปวดหัวเข่า หรือปวดตามร่างกายส่วนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นแบบเพิ่งเริ่มมีอาการ ปวดเฉียบพลัน ทันทีทันใด หรือปวดแบบเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ ก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ ให้รีบทำการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการแทรกซ้อนหรือโรคเกี่ยวกับเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

Share

Contact Us